แลกเงินอย่างไรให้คุ้มเมื่อไปเที่ยวต่างประเทศ

 

         

 

แลกเงินอย่างไรให้คุ้มเมื่อไปเที่ยวต่างประเทศ | ทัวร์ต่างประเทศ กับฟรีเบิร์ดทัวร์

แลกเงินอย่างไรให้คุ้มเมื่อไปเที่ยวต่างประเทศ

เรื่องเงินเรื่องทองเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ จะไปเที่ยวทั้งทีการเตรียมตัวเกี่ยวกับเงินที่จะพกไปด้วยสำคัญมากๆ ไหนจะเพื่อนข้างๆที่ชอบมาคุยทับว่าแลกมาในเรทราคาที่ถูกกว่าเราเพียงนิดก็สะกิดใจเสียเหลือเกิน ฟรีเบิร์ด ทราเวิล แอนด์ ทัวร์ มาเปิดเคล็ดไม่ลับที่จะทำให้เงินทุกบาททุกสตางค์ถูกแลกอย่างคุ้มค่า

 

1. แลกเงินสกุลกลางๆอย่างสกุลยูโร(EURO) หรือสกุลดอลล่าร์สหรัฐ(USD)

แลกเงินอย่างไรให้คุ้ม

ส่วนใหญ่แล้วเวลาจะไปเที่ยวต่างประเทศเราก็จะจัดการแลกเงินสกุลของประเทศนั้นๆไว้เรียบร้อยตั้งแต่อยู่เมืองไทย แต่ก็มีสกุลเงินหลายๆประเทศที่ไม่มีให้แลกจากเมืองไทย รวมไปถึงการเดินทางทริปเดียวไปหลายประเทศที่ต้องใช้สกุลเงินต่างกัน เช่น ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย หรือประเทศเทรนด์ใหม่อย่างอเมริกาใต้ เมื่อเป็นเช่นนี้สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือให้แลกเงินสกุลกลางๆอย่างยูโร และดอลล่าร์สหรัฐไว้ จากนั้นค่อยนำไปแลก ณ ประเทศนั้นๆอีกที

 

2. แลกเงินแค่พอใช้ 

แลกเงินอย่างไรให้คุ้ม

ก่อนไปเที่ยวประเทศไหนๆสิ่งสำคัญคือต้องศึกษาเรื่องราวพื้นฐานของประเทศนั้นๆไว้บ้างเพื่อการวางแผนการเดินทางต่างๆ แม้เราจะไปกับกรุ๊ปทัวร์ก็ตาม เช่น ประเทศนั้นมีอะไรให้เราอยากซื้อ อยากช้อป อยากจะใช้เงินบ้าง ถ้าประเทศที่ไปไม่ได้มีของที่จะสามารถกระชากเงินในกระเป๋าเราได้ เราก็แลกไว้เพียงเล็กน้อยสำหรับซื้อขนมนมเนยกินระหว่างทางก็เพียงพอ หากไม่พอค่อยไปแลกเพิ่ม การแลกเงินไว้เยอะๆ แม้จะอุ่นใจแต่เมื่อนำมาแลกคืนขาดทุนแน่ๆถึงตอนนี้ใจมันไม่อุ่นเสียแล้ว ร้อนเลย อีกทั้งเงินบางสกุลนำกลับมาเมืองไทยก็หาที่แลกคืนไม่ได้อีกต่างหาก อ้อๆๆๆแล้วพวกเหรียญต่างๆถ้าไม่ได้อยากเก็บเป็นที่ระลึกก็ใช้มันไปให้หมดเพราะร้านแลกเงินส่วนใหญ่ หรือแอดว่าอาจจะเป็นทุกร้านเลยนะที่มักไม่รับแลก  เงินบางสกุลที่เป็นแบ้งค์แต่มีมูลค่าน้อยบางร้านในเมืองไทยก็ไม่รับแลก ดังนั้นไม่ใช่วางแผนแค่การแลกเงินให้พอใช้ แต่ควรวางแผนว่าเมื่อไปถึงต้องใช้เงินให้หมดอย่างไรในวันท้ายๆ 5555

 

3. ใช้สกุลเงินให้ตรงกับสกุลเงินของประเทศนั้นๆ

แลกเงินอย่างไรให้คุ้มค่า

หากเราไปเที่ยวในประเทศที่มีสกุลเงินเป็นของตัวเองเวลาซื้อของควรใช้เงินสกุลนั้นๆซื้อไม่แนะนำให้ใช้เงินสกุลกลางๆ เช่น ยูโร หรือดอลล่าร์สหรัฐ เหตุผลเพราะว่าเราจะขาดทุนเรื่องเรทเงินถ้าเจอร้านค้าที่น่ารักก็อาจจะขาดทุนเล็กน้อย แต่ถ้าเจอร้านค้าที่น่ารักน้อยหน่อยเราก็จะขาดทุนมากๆ  อีกทั้งเวลาเขาทอนเงินกลับมา ส่วนใหญ่เขาจะไม่ทอนเป็นสกุลเงินยูโร หรือดอลล่าร์สหรัฐนะจ๊ะ เขาจะทอนเป็นสกุลเงินของประเทศเขา ทีนี้แหละงงกันไปเลยไอ้ลำพังแปลงแค่สกุลเงินเดียวจากยูโรเป็นไทย ไทยเป็นยูโรก็พอได้แต่ต้องแปลงอีกสกุลเข้ามาด้วย ถ้าเราจ่ายเป็นยูโรแล้วเขาทอนมาเป็นสกุลเงินของเขาคิดแบบแง่ลบกันไปเลยว่าเราขาดทุนแน่ๆ แอดเคยไปต่อเครื่องที่ดูไบ ดูไบใช้เงินสกุลเดอร์แฮ่ม DIRHAM (AED)  แหม!!ก็แค่ไปต่อเครื่องเราก็คงไม่ต้องแลกเงินไปแน่ๆ เพราะในสนามบินเขายินดีรับทั้งยูโร และดอลล่าร์สหรัฐอยู่แล้ว แอดใช้ยูโรจ่ายเงินซื้อของกิน พนักงานเขาทอนมาให้เป็น AED แอดบอกว่าขอให้ทอนเป็นยูโรเขาไม่ยอมเอาล่ะสิไอ้ที่ทอนมามันคืออะไร รับมาแบบงงๆคิดว่าขาดทุนแน่ๆ แต่ก็อยากรู้ว่าขาดทุนมากขาดทุนน้อย แล้วเปิดกูเกิ้ลดูเรทเงินปรากฏว่าเห้ยมันขาดทุนเยอะไปไหม แอดก็ไม่ยอมสิจ๊ะกลับไปที่แคชเชียร์คุยไปคุยมาเขายื่นดอลล่าร์สหรัฐฉบับละ 1 ดอลล่าร์มาให้ 1 ใบ จากยูโรกลายเป็นดอลล่าร์ และเพิ่มเศษเงินประเทศเขามาให้อีกนิดหน่อย ...อ้าว!!งงกันไปใหญ่อะไรฟระ 555...เออๆๆๆพอแล้วเอาที่สบายใจ 

 

4. รูดลื่นกับบัตรเครดิต

รูดบัตรเครดิตที่ต่างประเทศเราจะถูกเรียกเก็บเป็นเงินไทยเท่าไหร่

ในปัจจุบันร้านค้าหลายๆร้านในเมืองใหญ่ๆ หรือตามแหล่งท่องเที่ยวดังๆมักมีบริการรับชำระค่าสินค้าผ่านบัตรเครดิต หมดปัญหานักท่องเที่ยวที่ไม่ชอบพกเงินเยอะ หรือแลกเงินไว้ไม่พอ แถมการรูดบัตรเครดิตก็ได้สะสมแต้มอีกด้วย บางท่านอาจจะกังวลใจว่ารูดบัตรเครดิตที่ต่างประเทศเราจะถูกเรียกเก็บเป็นเงินไทยเท่าไหร่กัน

การคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนเท่าที่แอดทราบจะคิดเรท ณ วันที่ร้านค้าส่งรายการเข้าไปเรียกเก็บกับทางบัตรเครดิต ซึ่งอาจจะไม่ใช่วันที่เราใช้บัตรรูดซื้อสินค้าก็ได้ บัตรเครดิตแต่ละค่ายจะมีรายละเอียดต่างกัน เช่น ค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงินต่างประเทศบางค่ายคิดไม่เกิน 2% บางค่ายคิดไม่เกิน 2.25% สามารถเข้าไปเช็คก่อนออกเดินทางหรือสอบถามได้ที่หน่วยงานที่ออกบัตรเครดิตให้เราโดยตรง

สูตรการคำนวณ ไม่ว่าเราจะไปรูดบัตรที่ประเทศไหนเราต้องแปลงสกุลเงินประเทศนั้นๆมาเป็นสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐก่อนแล้วค่อยแปลงมาเป็นเงินบาท เช่น ไปรูดที่ญี่ปุ่นก็ต้องแปลงเงินเยน>เป็นดอลล่าร์สหรัฐ>แล้วค่อยแปลงจากดอลล่าร์สหรัฐมาเป็นเงินบาท จากนั้น X คูณด้วยค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงินแล้วบวกเข้าไป 

 

ยกตัวอย่างเช่น รูดบัตรซื้อสินค้าที่ญี่ปุ่น ราคา 10,000 เยน 

วิธีการคำนวณ 

 

1. แปลงเงินเยนมาเป็นเงินดอลล่าร์สหรัฐ (อัตราแลกเปลี่ยน 1 USD = 108.31 JPY)
   10000 JPY = 92.33 USD

2. แปลงเงินดอลล่าร์สหรัฐมาเป็นเงินบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 USD = 30.38 BAHT)
    92.33 USD x 30.38 BAHT = 2,804.98 บาท 

3. ค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงินต่างประเทศ เช่น 2% (ขึ้นอยู่กับค่ายบัตรเครดิตไม่เท่ากัน)
    2,804.98 บ. x  2% = 56.09 บ.

4. ดังนั้นบัตรเครดิตจะเรียกเก็บเงินเราที่จำนวน 2,804.98 บ.+56.09 บ. = 2,861.07 บ. 

 

ซึ่งพอดูแล้วก็เป็นเรทที่ใกล้เคียงกับการจ่ายเงินสดเลย บางครั้งอาจถูกกว่าจ่ายเงินสดๆอีกด้วย แต่อย่างไรแล้วก่อนจะรูดตรวจสอบให้ดีเพราะหากผิดพลาด และกลับมาไทยแล้วอาจจะไม่คุ้มที่ต้องบินกลับไปทักท้วงร้านค้าแน่นอน

 

5. แลกเงินคืนเมื่อไม่ใช้

แลกเงินอย่างไรให้คุ้ม แลกเงินคืนเมื่อไม่ใช้

หลังจากไปเที่ยวกลับมาแล้วเงินที่แลกไปก็ยังใช้ไม่หมด และไม่มีแผนที่จะเดินทางไปประเทศนั้นอีก แนะนำว่าให้แลกคืนไปเลย ยกเว้นว่าอยากจะเก็บบางส่วนไว้เป็นที่ระลึก หรือบางท่านอยากเก็บไว้แลกคืนตอนค่าเงินในเรทที่พอใจก็ตามแต่สะดวก แต่อย่าเก็บจนลืม เพราะบางครั้งเราเก็บเงินไว้นานมากจนมีการเปลี่ยนแปลง หรือมีการยกเลิกการใช้เงินแบบเดิมไปแล้วมารู้ตัวอีกที อ้าว!!เงินที่ถืออยู่มันใช้ไม่ได้แล้วนี่นา อย่างเช่น เงินของตุรกี ใครไปตุรกีสมัยก่อนธนบัตรบางใบตัวเลขศูนย์เยอะมาก เช่น 1,000,000  ซึ่งปัจจุบันได้มีการยกเลิกไปหมดแล้ว


สุดท้ายแล้วการจะแลกเงินอย่างไรให้คุ้มค่าที่สุดก็ต้องติดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินของแต่ละเจ้ารวมไปถึงการแลกเงินผ่านบัตร Travel Card ต่างๆ ว่าแต่แลกเงินที่ไหนดี ชี้เป้า 11 ร้านแลกเงินชื่อดัง   กลับสู่หน้าแรก หรืออยากอ่านเรื่องอื่นๆอีก ข้อมูลท่องเที่ยวน่ารู้

 

 

         

 


 

- หากบทความนี้ดีต่อใจ ชวนคนที่คุณรักมาเที่ยวกับฟรีเบิร์ดทัวร์กันค่ะ -   

สนใจโปรแกรมทัวร์ต่างประเทศคลิกที่นี่ 

 

คุยกับครอบครัวฟรีเบิร์ดทัวร์

โทร.02-0488-785-7 Hotline 085-151-1000 , 094-782-6888 และ 093-570-3000

 

    instagramfreebirdtour  twitter freebirdtour  Youtube freebirdtour    


Visitors: 472,088