ญี่ปุ่น | 8 สิ่งที่พบบ่อยในญี่ปุ่น

         

 

8-things-you-can-see-in-Japan freebirdtravel

 

ครั้งหนึ่งในชีวิตของการเลือกแผนการท่องเที่ยวของหลายๆท่าน  ประเทศญี่ปุ่นน่าจะเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ บางท่านอาจจะเป็นการเที่ยวญี่ปุ่นครั้งแรก บางท่านอาจจะมาเที่ยวญี่ปุ่นนับครั้งไม่ถ้วน ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่สร้างความประทับใจของการท่องเที่ยวให้กับเราในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน ของน่ารักน่าใช้สำหรับคนชอบชอปปิง สถานที่ท่องเที่ยวทั้งแบบธรรมชาติ และวัดวาอาราม วัฒนธรรม   

สิ่งต่างๆที่ได้พบเห็น พบเจอระหว่างการเดินทางแต่ละทริปก็ทำให้เราอยากรู้ว่าสิ่งนั้นเรียกว่าอะไร คืออะไร เป็นมาอย่างไร มีความหมายอะไร    ฟรีเบิร์ด ทราเวิล แอนด์ ทัวร์ ชวนไขข้อข้องใจกับ 8 สิ่งที่พบบ่อยในญี่ปุ่น เพื่อให้การเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นในครั้งนี้สนุก มีความหมาย และได้อรรถรสมากขึ้น

 

1. Shimenawa เชือกถัก ชิเมะนะวะ

Shimenawa

 

Shimenawa(เชือกถักชิเมะนะวะ) Shime(ชิเมะ) แปลว่า กอด หรือโอบ , Nawa(นะวะ) แปลว่า เชือก เชือกถักชิเมะนะวะ (Shimenawa) เป็นเชือกทำจากป่าน หรือฟางข้าวแห้ง หรือพลาสติก บิดมัดให้เป็นเกลียวมีหลายขนาดตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ พบเห็นได้เมื่อท่านมาเที่ยวญี่ปุ่น ปรากฎผูกติดกับประตูศาลเจ้าชินโตตรงทางเข้า, เสาโทริอิ, ต้นไม้, รอบก้อนหิน โขดหิน, ที่อยู่อาศัย

คนญี่ปุ่นเชื่อว่าเทพเจ้าสถิตอยู่ทั่วทุกสิ่งรอบๆตัว จึงให้ความสำคัญกับการถักเชือกซึ่งถือเป็นเครื่องรางศักดิ์สิทธิ์ ปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บให้มีแต่โชคลาภ และสิ่งดีๆ ป้องกันสิ่งชั่วร้าย หรือสิ่งอัปมงคลทั้งหลายไม่ให้เข้ามากล้ำกลาย และยังเป็นการแสดงความเคารพในสิ่งนั้นๆด้วย

เชือกถักชิเมะนะวะ(Shimenawa) แม้จะพบเห็นได้ง่ายมากในญี่ปุ่น แต่เป็นที่รู้จักมากที่สุดสำหรับผู้ที่มาเที่ยวญี่ปุ่น คือ เชือกถักชิเมะนะวะที่แขวนอยู่หน้าศาลเจ้าอิซุโมะไทฉะ(Izumo Taisha Shrine) เมืองอิซุโมะ(Izumo) จังหวัดชิมะเนะ(Shimane) ซึ่งเป็นศาลเจ้าที่สำคัญ และมีความเก่าแก่ เชือกถักชิเมะนะวะ(Shimenawa) ที่นี่มีขนาดใหญ่ มีน้ำหนักประมาณ 5 ตัน ความยาวประมาณ 13 เมตร เส้นรอบวงประมาณ 8 เมตร ทำขึ้นจากคนท้องถิ่นโดยใช้วิธีแบบดั้งเดิม นอกจากความโดดเด่นของเชือกถักชิเมะนะวะ(Shimenawa) แล้ว ศาลเจ้าอิซุโมะไทฉะ(Izumo Taisha Shrine) ยังเป็นศาลเจ้าแห่งเทพโอะคุนินุชิ(Okuninushi) ซึ่งเป็นเทพผู้สร้างดินแดนประเทศญี่ปุ่น และเป็นเทพของความสัมพันธ์ เทพเจ้าแห่งคู่รัก จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวมาขอพรกันอย่างต่อเนื่อง

อีกสถานที่หนึ่งที่ฟรีเบิร์ดอยากจะชวนให้ไปโดยเฉพาะคนที่อยากจะขอพรเรื่องของความรักคือที่โขดหินเมโอโตะอิวะ(Meoto Iwa) ตั้งอยู่ที่จังหวัดมิเอะ เป็นหินธรรมชาติคู่ก้อนใหญ่ และเล็กตรงกลางเชื่อมกันด้วยเชือกถักชิเมะนะวะ(Shimenawa) เป็นสถานที่เที่ยวยอดนิยมของคู่รักให้มาขอพรให้รักกันยาวนาน หรือคนโสดขอพรให้พบเนื้อคู่ จึงกล่าวได้ว่า เชือกถักชิเมะนะวะ(Shimenawa) เชื่อมโยงประเพณีวัฒนธรรม ความเชื่อวิถีของชาวอาทิตย์อุทัยมาเป็นเวลายาวนาน

 

2. Momiji-gari  ภารกิจพิชิตใบไม้เปลี่ยนสี

Momiji-gari

 

Momijigari(โมมิจิ การิ) การตามล่าใบไม้เปลี่ยนสีซึ่งหมายถึงต้นเมเปิ้ลเป็นหลัก ทั่วประเทศญี่ปุ่นมีต้นเมเปิ้ลมากกว่า 30 ชนิด เมเปิ้ลเป็นพันธุ์ไม้ที่โดดเด่นสวยสะดุดตาในช่วงฤดูใบไม้ร่วงเพราะใบไม้จะเปลี่ยนสี ในความจริงไม่ได้หมายถึงเฉพาะต้นเมเปิ้ลเท่านั้น ยังมีต้นแปะก๊วยสีเหลืองสดใส สีน้ำตาลของต้นโอ๊ค เกาลัด บีซ แมกโนเลีย ฯลฯ

70% ของพื้นที่ในญี่ปุ่นเป็นป่า มีต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้หลากหลายชนิด ในทุกฤดูชาวญี่ปุ่นจะได้สัมผัสกับความงามของธรรมชาติที่หลากหลาย การได้เพลิดเพลินกับการเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมกับฤดูกาล ความงดงามดอกไม้ วิวทิวทัศน์ต้นไม้ ใบไม้ที่ช่วยแต่งเติมสีสันของธรรมชาติไม่ให้จืดชืด ถือเป็นวัฒนธรรมที่ฝังแน่นอยู่กับชาวญี่ปุ่นมาเป็นเวลายาวนาน ประเพณีการชมใบไม้เปลี่ยนสี หรือโมมิจิ การิ(Momijigari) เป็นไฮไลท์การท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่ห้ามพลาดเช่นเดียวกับเทศกาลชมซากุระ “ฮานามิ” การชมใบไม้เปลี่ยนสีในญี่ปุ่น มีข้อได้เปรียบกว่าการชมดอกซากุระอยู่อย่างหนึ่งคือเราสามารถวางแผนการเที่ยวได้ง่ายกว่าเพราะมีระยะเวลาช่วงใบไม้เปลี่ยนสีในญี่ปุ่นนั้นยาวนานกว่า และเที่ยวชมได้หลายภูมิภาคหลายสถานที่มากกว่าการชมซากุระที่สามารถชื่นชมในช่วงเวลาอันสั้น และบางครั้งอาจคาดเดาไม่ได้เนื่องจากขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ฤดูการชมใบไม้เปลี่ยนสีในญี่ปุ่น เริ่มต้นประมาณเดือนกันยายนจากทางเหนือคือภูมิภาคฮอกไกโด(Hokkaido)  จนถึงต้นธันวาคมทางใต้ของญี่ปุ่นคือภูมิภาคคิวชู(Kyushu)  เราสามารถเห็นใบไม้เปลี่ยนสีในที่ต่างๆในช่วงเวลา และอุณหภูมิที่ต่างกัน ใบไม้เปลี่ยนสีในญี่ปุ่นจะอวดโฉมให้เราเห็นทั่วทุกมุมเมืองแทบจะทุกพื้นที่ของประเทศญี่ปุ่น การชื่นชมใบไม้เปลี่ยนสีที่ญี่ปุ่น สามารถพบได้ที่ ศาลเจ้า วัด ปราสาท สวนสาธารณะ อุทยานแห่งชาติ ภูเขาหุบเขา น้ำตก และข้างถนนใจกลางเมือง การชื่นชมใบไม้เปลี่ยนสี “โมมิจิ การิ”(Momijigari) ในญี่ปุ่นเอื้ออำนวยให้ท่านได้เพลิดเพลินในหลายรูปแบบ เช่น เดินเล่น เดินป่า ขับรถยนต์ ล่องเรือ ขึ้นรถไฟ สามารถชมทิวทัศน์ซ้อนทับสลับกันไปมาของ สีส้ม สีแดง เหลือง น้ำตาล กระทบกับแสงแดดยิ่งเพิ่มสีสันให้ชัดเจนงดงามน่าทึ่ง

นอกเหนือจากการชมใบไม้เปลี่ยนสีในช่วงกลางวัน การเพลิดเพลินกับ โมมิจิ การิ(Momijigari) ในช่วงเวลาค่ำคืนในสวนญี่ปุ่น ที่มีการฉายไฟใส่ต้นไม้ท่ามกลางแสงดาวในยามค่ำคืน ความพิถีพิถันในการเลือกใช้เฉดของสีจากแสงไฟผสมผสานสีที่เป็นธรรมชาติของใบไม้ต้นไม้ทำให้เห็นสีของใบไม้ได้อย่างชัดเจน และเห็นความงดงามของเงาสะท้อนราวกระจกที่ผิวน้ำในสระ อีกทั้งระดับความสูงต่ำของต้นไม้ตามธรรมชาติทำให้ทิวทัศน์ยามค่ำคืนดูเงียบสงบมากล้นด้วยเสน่ห์ การเดินทางท่องเที่ยวญี่ปุ่นเก็บเกี่ยวความงดงามของสีสันของฤดูใบไม้เปลี่ยนสี “โมมิจิ การิ”(Momijigari) ความมหัศจรรย์ธรรมชาติที่หนึ่งปีมีครั้งของประเทศญี่ปุ่น ทำให้ผู้มาสัมผัสรู้สึกตื่นตาตื่นใจ ผ่อนคลาย หัวใจพองโต ได้รับความประทับใจกลับไปอย่างแน่นอนเมื่อไปเที่ยวญี่ปุ่น

 

3. Kazaridaru   ถังเหล้าสาเก

kazaridaru japan freebirdtravel

 

ภาพถังเหล้าสาเกหลากสีสันต่างลวดลายตั้งวางเรียงรายซ้อนกันอยู่เป็นจำนวนมากตามศาลเจ้านับเป็นของประดับตกแต่งเป็นแลนด์มาร์คที่นักท่องเที่ยวนิยมถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก “คาซาริดารุ”(Kazaridaru) ถังเหล้าสาเกเปล่าเหล่านี้ในอดีตเจ้าของโรงผลิตสาเก หรือประชาชนนำเหล้าสาเกมาบริจาคให้กับศาลเจ้าในงานพิธีการงานเทศกาลสำคัญๆ การมอบเหล้าสาเกให้กับศาลเจ้าถือเป็นสิ่งมงคล เหล้าสาเก หมักจากข้าว ผลิตในถังไม้เพื่อเก็บ และบ่ม นอกจากโรงผลิตสาเกจะเป็นผู้ผลิตแล้ว บางศาลเจ้ายังมีการหมักสาเกเองอีกด้วย ประเทศญี่ปุ่นมีการนำเหล้าสาเกมาร่วมในงานพิธีหรือเทศกาลประจำศาลเจ้า แสดงถึงความเชื่อมโยงระหว่างเทพเจ้ากับชาวญี่ปุ่น เหล้าสาเกเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับใช้เป็นเครื่องเซ่นไหว้บูชาต่อเทพเจ้า ขอให้มีแต่ความโชคดี และเป็นเครื่องดื่มในการเฉลิมฉลองในพิธีมงคลต่างๆ

คนญี่ปุ่นนิยมดื่มสาเกในโอกาสพิเศษต่างๆ ปัจจุบันถึงแม้ว่าความนิยมในการดื่มสาเกในญี่ปุ่นลดต่ำลง ชาวญี่ปุ่นหันไปดื่มโชจู เบียร์ ไวน์กันมากขึ้น แต่รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนส่งเสริมสาเกเป็นสินค้าออกที่สำคัญอย่างหนึ่งของประเทศทำให้อุตสาหกรรมสาเกยังคงดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน


การมาเที่ยวญี่ปุ่นเราจึงพบเห็นคอลเลคชั่นอลังการของ “คาซาริดารุ”(Kazaridaru) ได้ตามศาลเจ้า เช่น มัทสึโอะไทฉะ(Matsuno Taisha) ที่เกียวโต ศาลเจ้าเมจิ(Meiji) ที่โตเกียว และศาลเจ้าอิเสะ (Ise) จังหวัดมิเอะ

 

4. Maiko ไมโกะ

Maiko-Japan

 

ญี่ปุ่น(Japan) เป็นประเทศที่สวยงามมีวิถีชีวิต และประเพณีที่น่าสนใจ ความงามของหญิงสาวญี่ปุ่นก็มีเสน่ห์ไม่แพ้กัน ไมโกะ (Maiko) เป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นไม่เหมือนใครมีปรากฎอยู่ในเฉพาะประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น ไมโกะ(Maiko) แปลว่า หญิงสาวนักเต้นรำ คือ เกอิชาฝึกหัด เป็นหญิงสาวที่ฝึกฝนเรียนรู้วิถีของเกอิชา

ปัจจุบันเด็กหญิงชาวญี่ปุ่นต้องมีอายุครบ 16 ปีบริบูรณ์ จึงสามารถเข้ามาเป็นไมโกะ(Maiko) หรือเกอิชาฝึกหัดได้ ซึ่งใช้เวลาไม่กี่ปีในการฝึกฝนเรียนรู้ก่อนที่จะได้มาเป็นเกอิชาเต็มตัว


เกอิชาฝึกหัดจะคอยเรียนรู้งานจากรุ่นพี่เกอิชา โดยการฝึกทักษะด้านวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม เรียนเต้นร่ายรำ ฝึกเล่นดนตรี เรียนพิธีชงชา การพูดคุย ไมโกะ(Maiko)มีหน้าที่ให้ความบันเทิงกับลูกค้าในด้านต่างๆที่ตนเองได้ฝึกฝนเรียนรู้มา เอกลักษณ์อันโดดเด่น ของไมโกะ(Maiko) 


นอกเหนือจากการแสดงออกมาทางความสามารถในด้านต่างๆแล้ว รูปลักษณ์ภายนอกยังโดดเด่นไม่แพ้กัน การแต่งหน้าสีขาวโพลนเนื่องจากเมื่อสมัยก่อนใช้แค่แสงเทียนเหลืองๆนวลๆริบหรี่ การมองเห็นภายใต้แสงเทียนทำให้ดูโดดเด่นแตกต่างจากคนอื่นๆ รอบดวงตามีการแต้มสีแดง ทาริมฝีปากล่างสีแดง จะต่างจากเกอิชาที่ทาริมฝีปากทั้งบนและล่างสีแดง ทรงผมของไมโกะ(Maiko) เป็นผมจริงไม่ใช้วิกใช้เวลาในการจัดแต่งหลายชั่วโมงด้วยช่างผมผู้เชี่ยวชาญ ลักษณะเด่นของทรงผมคือเกล้ามวยอย่างปราณีตบรรจงผมถูกรวบไว้ที่ด้านบนหลังคล้ายซาลาเปากลมเล็กๆผูกมัดด้วยผ้าสีแดง มีชื่อเรียกว่า ทรงวาเระชิโนบุ(Wareshinobu hairstyle) ประดับผมด้วยเครื่องประดับที่สลับซับซ้อนหลายชนิด "คันซาชิ"(Kanzashi) เป็นเครื่องประดับทรงผมแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมมีดีไซน์สวยงามหลากหลาย เช่น กิ๊บติดผมประดับดอกไม้เล็กๆห้อยยาวลงมา กิ๊บติดผมเงินที่เรียกว่า บิระ(Bira) ปิ่นปักผมที่เรียกว่า ทามะคันซาชิ(Tama Kanzashi) ผมสีดำเข้มประกอบด้วยเลเยอร์ของคันซาชิที่ประดับลดหลั่นกัน ชุดกิโมโนฮิคิซูริ(Hikizuri) ซึ่งมีด้านหลังเพิ่มส่วนต่อท้ายเป็นผ้าที่ยาวสวยลื่นไหลอย่างสวยงาม แขนยาวสีสันสดใสมีลวดลายดอกไม้งดงาม แผ่นหลังขาวสว่างตัดกับขอบปลอกคอเสื้อกิโมโนสีแดงด้านในซึ่งแสดงความเป็น ไมโกะ(Maiko) ซึ่งเกอิชาจะสวมเสื้อด้านในของชุดกิโมโนขอบเสื้อจะเป็นสีขาว คาดด้วยโอบิ ไมโกะ(Maiko) สวมถุงเท้าขาวที่เรียกว่า ทาบิ(Tabi) ใส่กับรองเท้าเกี๊ยะทรงสูงที่เรียกว่า โอโคโบะ(Okobo) 


นักท่องเที่ยวมีโอกาสจะพบเห็นไมโกะ(Maiko) และเกอิชา(Geisha) ในชุดเต็มรูปแบบเดินไปมาเพื่อเตรียมตัวแสดง ย่านกิออน(Gion) ถนนฮานามิโคจิ(Hanamikoji) ภูมิภาคเกียวโต ที่นี่เปรียบเสมือนบ้านเกิดของเกอิชาและไมโกะ เกียวโตยังคงความเป็นเมืองเก่าดั้งเดิม ร้านอาหารบางร้านยังมีการแสดงของเกอิชา และไมโกะอีกด้วย แต่ทั้งนี้ต้องจองล่วงหน้า หรือท่านอยากมีโมเม้นท์แต่งตัวแบบเกอิชาหรือไมโกะ ที่ประเทศญี่ปุ่นสามารถตอบสนองความต้องการท่านได้ มีร้านที่รับจัดแต่งตัวเป็นไมโกะให้นักท่องเที่ยว เพื่อสร้างประสบการณ์อันดีในการมาท่องเที่ยวญี่ปุ่นของได้เป็นอย่างดี


สิ่งที่ควรระวังของการมาเที่ยวย่าน Gion คือ การไปรบกวนความเป็นส่วนตัวของไมโกะ(Maiko) และเกอิชา(Geisha) โดยการไปถ่ายรูปทั้งแบบแอบถ่าย และขอถ่าย จนเป็นที่มาของการออกกฏการถ่ายรูปในย่านนี้ขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2019 คณะกรรมการท้องถิ่นเขต Higashiyama-Ku Gion-Machi ได้ออกป้ายเตือนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวย่าน Gion ห้ามถ่ายรูปทุกอย่างโดยไม่ได้รับอนุญาติ หากฝ่าฝืนจะถูกปรับเป็นเงิน 10,000 เยน

 

5. Noren เปิดม่านโนเรน

Noren japan freebirdtour

โนเรน(Noren) ผ้าม่านญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม แถบผ้าสี่เหลี่ยมแนวตั้งกรีดเป็นรอยแยกด้านบนลงมาเพื่อให้เข้าออกได้สะดวกแขวนไว้ด้านหน้าทางเข้าสถานที่นั้นๆ  เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านชา ออนเซ็น ตลอดจนประตูทางเข้าศาลเจ้า 

โนเรน(Noren) มีน้ำหนักเบา ทำจากผ้าฝ้ายหรือผ้าลินินมีหลากหลายแบบ หลายสี หลายดีไซน์ มีทั้งรูปภาพนานาชนิด สีสันสวยงาม  หรือมีเพียงตัวอักษรญี่ปุ่น ทำให้โนเรน(Noren) แต่ละแห่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร  ในอดีตโนเรน(Noren) มีไว้เพื่อปกป้องจากลม ฝน ฝุ่น ให้ร่มเงา ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นป้ายซึ่งมักจะระบุชื่อร้านหรือมีโลโก้ของร้านแสดงอยู่ โนเรน(Noren)นอกจากทำหน้าที่แทนป้ายร้านแล้วยังเป็นการบ่งบอกว่าร้านเปิดหรือปิด หากมีโนเรน(Noren) แขวนอยู่ที่หน้าทางเข้าแสดงว่าร้านเปิดอยู่ หากไม่มีโนเรนแขวนหมายถึงปิดแล้ว  การใช้งานก็แสนง่ายเพียงแค่เลื่อนราวผ้าม่านปรับให้เข้ากับความกว้างของทางเข้า สามารถพบเห็นโนเรน(Noren) ได้ทั่วญี่ปุ่น   หากท่านมาเที่ยวญี่ปุ่น สามารถซื้อ โนเรน(Noren) กลับไปเป็นของที่ระลึกได้อีกด้วย


6. Chozuya ศาลาบ่อน้ำ  

Chozuya

 

โชซุยะ(Chozuya) เป็นพื้นที่เปิดโล่งมีหลังคา และมีแอ่งน้ำใส ส่วนมากทำจากหินมีน้ำไหลผ่านไว้สำหรับชะล้าง มีกระบวยตักน้ำด้ามเป็นไม้ เรียกว่า Hishaku วางเรียงไว้ มักจะตั้งอยู่ตรงทางเข้าศาลเจ้า และวัด

Chozuya เป็นธรรมเนียมที่ผู้มาเยือนจะต้องทำความสะอาดชำระร่างกายให้บริสุทธิ์ก่อนเข้าไปในศาลเจ้าหรือวัดในพุทธศาสนาเป็นวัฒนธรรมญี่ปุ่นแสดงให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างน้ำกับศาสนา พิธีกรรมในการให้ผู้มาเยี่ยมเยือนสถานที่ต้องปฎิบัติก่อนเดินทางเข้าศาลเจ้าชินโตหรือวัด จะพบเห็นผู้คนล้างมือล้างปากเพื่อชำระล้างให้สะอาด ซึ่งมีขั้นตอนเริ่มต้นด้วยการถือกระบวยด้วยมือขวา เทน้ำลงบนมือซ้าย จากนั้นถือกระบวยด้วยมือซ้ายเทน้ำลงบนมือขวา จากนั้นกลับไปถือกระบวยด้วยมือขวาเทน้ำบนมือซ้ายแล้วใช้บ้วนปาก ถือกระบวยตั้งขึ้นให้น้ำที่เหลือให้ไหลลงเพื่อล้างด้ามจับ วางกระบวยกลับที่เดิมโดยให้คว่ำลง สิ่งสำคัญคือตักน้ำเพียงครั้งเดียวกะปริมาณน้ำให้เพียงพอ หากท่านได้ท่องเที่ยวญี่ปุ่น และมีโอกาสไปไหว้สักการะศาลเจ้าหรือวัด การทำถูกขั้นตอน โชซุยะ(Chozuya) ถือเป็นการดำรงคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันดีงามของชาวญี่ปุ่นให้คงอยู่ในฐานะนักท่องเที่ยวที่ดี

 

7. Chochin  โคมกระดาษ

Chochin japan freebirdtravel

 

 

โคมกระดาษ(Chochin) วัฒนธรรมของญี่ปุ่นที่จะพบเห็นเรียงรายอยู่ตามสถานที่สำคัญๆต่างๆ มีน้ำหนักเบามาก ผลิตจากเทคนิคการทำโคมไฟแบบดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาเป็นเวลานานหลายร้อยปี แตกต่างกันที่รูปลักษณ์ภายนอก โคมกระดาษมีทั้งแบบวาดด้วยลวดลายสีต่างๆ บ้างเขียนด้วยตัวอักษรจีน มีหลายขนาด ภายในประดับด้วยไฟที่เปล่งแสงสว่างอย่างนุ่มนวล สามารถสร้างความอบอุ่นและสวยงามให้บริเวณนั้นๆ


โคมกระดาษ(Chochin) ใช้เป็นของตกแต่งโรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว ศาลเจ้า วัด หรือแขวนอยู่ทางเข้าร้าน และยังใช้ในงานเทศกาลสำคัญๆของญี่ปุ่น

 

ประเทศญี่ปุ่นมีเทศกาลประเพณีมากมายที่สามารถเห็น โคมกระดาษ(Chochin) ประดับประดาเพิ่มความสวยงาม เช่น เทศกาลโคมไฟกระดาษ เนบุตะมัตสึริ(Nebuta Matsuri) จัดขึ้นที่เมืองอาโอโมริ(Aomori) ในเดือนสิงหาคม จะพบโคมกระดาษ(Chochin) ทั่วบริเวณงานทำเป็นรูปทรงแบบต่างๆสีสันสวยงามอลังการขนาดใหญ่ตัดกับความมืดเพิ่มแสงสว่างสดใสในยามค่ำคืน เป็นศิลปะการทำโคมกระดาษขั้นสูงที่หาดูได้ยาก นอกจากนี้ยังมีเทศกาลโคมกระดาษอีกหลายแห่ง ดึงดูดผู้คนจำนวนมากให้มาเยือนญี่ปุ่น โคมกระดาษ(Chochin) เป็นทั้งวิถีชีวิตวัฒนธรรม และประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาแต่ดั้งเดิม 

 

8. Ema  แผ่นไม้ขอพร

ema japan freebirdtour

 

ตามศาลเจ้าชินโต ของประเทศญี่ปุ่น ท่านจะพบเห็นแผ่นไม้ขนาดเล็กประมาณเท่าฝ่ามือ เรียกว่า “Ema” แผ่นไม้ขอพร มีสายห้อยแขวนเรียงรายอยู่มากมายในศาลเจ้า เอมะ(Ema) ของแต่ละศาลเจ้ามีลักษณะแตกต่างกัน เป็นแบบเรียบง่ายไม่มีลวดลายหรือสีสัน บางศาลเจ้ามีการวาดเป็นรูปแบบต่างๆ ซึ่งรูปภาพที่อยู่บนเอมะ(Ema) เช่น ภูเขาไฟฟูจิ ภาพสัตว์ต่างๆ ภาพตามฤดูกาล เช่น ดอกซากุระ ใบเมเปิ้ล ผลไม้ ภาพเทพเจ้า ภาพการ์ตูน ภาพเอนิเมะ นอกเหนือจากรูปภาพที่ปรากฎบน เอมะ(Ema)แล้ว ลักษณะของแผ่นไม้เอมะ(Ema) บางศาลเจ้าก็มีรูปร่างที่แปลกแตกต่างกันไป บ้างเป็นรูปทรงกลม ทรงเหลี่ยม ทรงพัด ทรงสัตว์ต่างๆ ทรงหัวใจ เสาโทสีริอิสีแดง ภาพวาดต่างๆรูปทรงและลวดมีสีสันถือเป็นงานศิลปะอีกแบบหนึ่งที่มีปรากฎในศาลเจ้า

เอมะ(Ema) แผ่นไม้ขอพร ใช้เพื่อเขียนคำขอ คำอธิษฐาน เช่น ความเจริญรุ่งเรื่องของธุรกิจ ขอเรื่องสุขภาพ ความรัก ครอบครัว โชคลาภ การเรียน หรือเขียนเพื่อขอบคุณที่คำขอสมหวัง เอมะ(Ema) บางอันก็ไม่ใช่คำขอเสมอไป บ้างเขียนระบายความรู้สึก บ้างเขียนสนุกขำขัน บ้างเป็นคำขอเหนือจริง การอ่านคำขอ (ถ้าอ่านภาษาญี่ปุ่นออก) ก็สนุกสนานเพลิดเพลินมิใช่น้อย คำขอถูกเขียนด้วยปากกาที่ด้านหลังของแผ่นไม้เอมะ(Ema) ขออธิษฐานแล้วแขวนไว้บนกระดานที่ทางศาลเจ้าจัดไว้ 

เอมะ(Ema) แผ่นไม้ขอพร เก่าจะทยอยถูกนำไปเผาตามพิธีกรรมเชื่อกันว่าคำอธิษฐานจะถึงพระเจ้าบนสวรรค์ผ่านควันที่เกิดจากการเผา หากคุณเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นไหว้สักการะที่ศาลเจ้าคงคุ้นตากับแผ่นไม้ขอพร ที่เรียกว่า เอมะ(Ema) เป็นอย่างดี

 

จริงๆแล้วถ้าให้พูดถึงสิ่งของที่เห็นแล้วต้องนึกถึงญี่ปุ่นมันก็มีของต่างๆอีกมากมาย เพราะญี่ปุ่นนี่เขาเป็นเจ้าแห่งความสร้างสรรค์ ความเชื่อ วัฒนธรรม ที่มักถ่ายทอดออกมาเป็นสัญลักษณ์ให้ได้จดจำ เช่น เครื่องรางญี่ปุ่น หรือโอะมะโมะริ(Omamori) หน้าตาของเครื่องรางญี่ปุ่นจะมีลักษณะเป็นเหมือนถุงผ้าขนาดเล็กมีสายห้อย มีตัวอักษรภาษาญี่ปุ่นเป็นคำที่มีความหมายต่างๆ บ้างตกแต่งด้วยกระพรวนเล็กๆ หรือบ้างตกแต่งด้วยพู่ห้อย มีหลากสี โอะมะโมะริ สามารถพบเห็นและหาซื้อได้ง่ายมากๆตามวัด ศาลเจ้าทั่วญี่ปุ่น ด้วยความที่ปัจจุบัน โอะมะโมะริ(Omamori) ทำออกมาในรูปแบบ สี และการตกแต่ง น่ารักจนทำให้นักท่องเที่ยวอย่างเราคิดว่าเป็นของสะสมมากกว่าเครื่องรางเสียแล้ว ความหมายของเครื่องรางก็จะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับแต่ละวัด แต่ละศาลเจ้าที่ไป เพราะแต่ละที่ก็จะมีเทพเจ้าที่สถิตอยู่ไม่เหมือนกัน แต่ความหมายโดยรวมของเครื่องรางก็เพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย สิ่งไม่ดี รวมทั้งเป็นการขอพรในเรื่องต่างๆ เช่น ขอให้สุขภาพดีไม่เจ็บป่วย อายุยืน มีโชคลาภ มีความเจริญมั่งคั่ง ค้าขายดี ขอให้สมหวังในความรัก ขอให้สอบได้ ขอให้คลอดลูกปลอดภัย ขอให้ขับขี่ปลอดภัย ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ ขอให้ครอบครัวมีความสุข เป็นต้น ถ้าเราเคยเดินสวนกับเด็กๆนักเรียนญี่ปุ่นเราจะมักเห็นเครื่องรางห้อยอยู่ที่กระเป๋านักเรียน เครื่องรางเป็นธุรกิจที่คึกคักมากในศาลเจ้า และวัดของญี่ปุ่น  โดยเฉพาะวัดหรือศาลเจ้าใหญ่ๆ และมีชื่อเสียงมากๆ ตรงจุดจำหน่ายจะมีคนไปมุงจนแทบจะเข้าไม่ถึง ราคาของ โอะมะโมะริ(Omamori) ก็มีหลากหลายแตกต่างกันบางอันมีราคาหลายร้อยบาท ความหมายของเครื่องรางแต่ละแบบบางครั้งเราก็ไม่เข้าใจเพราะอ่านไม่ออก แต่บางวัดเขาจะมีภาษาอังกฤษเขียนอธิบายให้นักท่องเที่ยว สำหรับการถ่ายรูปเครื่องรางเหล่านี้บางวัดก็ไม่อนุญาติให้ถ่ายมีป้ายห้ามถ่ายติดไว้ บางวัดก็ไม่ได้มีป้ายแต่พอถ่ายเขาก็จะไม่ให้ถ่าย และบางที่อาจจะโดนดุ และทำสีหน้าไม่พอใจ แต่บางสถานที่ก็ไม่ว่าอะไร

Omamori

 

แมวกวักนำโชค มาเนกิเนะโกะ(Manekineko) ก็เป็นสัญลักษณ์อีกอย่างที่เห็นได้ง่ายมากในญี่ปุ่น เป็นเครื่องรางที่ฮิตมากๆในเมืองไทย เพราะเกี่ยวกับความเจริญรุ่งเรือง การค้าขาย แม้เราจะเห็นแมวกวักนำโชค มาเนกิเนะโกะ(Manekineko) ได้ง่ายมากในญี่ปุ่น แต่ว่ากันว่าถ้าอยากรู้จักแมวกวักที่เป็นต้นกำเนิดก็ต้องไปกันที่ วัดโกโทคุจิ(Gotokuji Temple) ในกรุงโตเกียว

แมวกวักทำออกมาในรูปแบบของที่ระลึกมากมาย บ้างเป็นพวงกุญแจ หรือเป็นแมวกวักตั้งวาง แมวกวักบางตัวมือข้างซ้ายจะถือสิ่งของซึ่งจะสื่อความหมายต่างๆกัน เช่น แมวกวักถือปลา หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ แมวกวักถือค้อน หมายถึง ความมั่งคั่ง แมวกวักถือเหรียญ หมายถึง ความโชคดี 

Manekineko

ต้นกำเนิดของแมวกวักนำโชคมาเนกิเนะโกะ(Manekineko) อยู่ที่วัดโกโทคุจิ(Gotokuji Temple) แต่ถ้าอยากเห็นมาเนกิเนะโกะ(Manekineko) แบบตัวใหญ่ๆ ที่มีความสูงถึง 3.8 เมตร ก็ต้องไปที่เมือง Tokoname เมืองที่เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่เก่าแก่ของญี่ปุ่น ที่นี่คุณจะได้เห็นแมวกวักตัวใหญ่ตั้งตระหง่านเรียกนักท่องเที่ยวให้แวะทักทาย ฟรีเบิร์ดทัวร์ชวนคุณตามไปเที่ยวกันที่ Tokoname City Pottery Footpath ที่เที่ยวใกล้นาโกย่า ญี่ปุ่นยังสิ่งที่ทำให้เรานึกถึงอีกมากและนี่คงเป็นเหตุผลที่ ทำไมไปเที่ยวญี่ปุ่นกี่ครั้งก็ไม่เบื่อ 

 

         

 


 

- หากบทความนี้ดีต่อใจ ชวนคนที่คุณรักมาเที่ยวกับฟรีเบิร์ดทัวร์กันค่ะ -   

สนใจโปรแกรมทัวร์ญี่ปุ่นคลิกที่นี่

 

คุยกับครอบครัวฟรีเบิร์ดทัวร์

โทร.02-0488-785-7 Hotline 085-151-1000 , 094-782-6888 และ 093-570-3000

    instagramfreebirdtour  twitter freebirdtour  Youtube freebirdtour     

 


Visitors: 467,932